หลายประเทศทั่วโลกผ่อนปรนกฎหมายอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาทางการแพทย์หรือเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกต้อง แต่กัญชายังถือเป็นสิ่งเสพติดให้โทษประเภท 5 ในไทย ซึ่งผู้เสพต้องระวางโทษปรับ และ/หรือ จำคุก ส่วนรัฐบาลเพิ่งเริ่มหาทางแก้กฎหมายเปิดช่องให้ศึกษาวิจัยพืชเสพติดได้อย่างถูกต้อง แม้ผู้ป่วยไทยบางส่วนลักลอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคร้ายมาหลายปีแล้ว
บีบีซีไทย คุยกับผู้เกี่ยวข้องถึงผลดี ผลเสีย ของ พืชเสพติดชนิดนี้ ทั้ง ผู้ทดลองใช้สารสกัดจากกัญชาเพื่อรักษาโรคร้าย แพทย์ผู้สนับสนุน หน่วยงานปราบยาเสพติด และ แพทยสภา
จากการค้นคว้าสู่ภาคปฏิบัติ
บัณฑูร นิยมาภา หรือที่ “เครือข่ายผู้ใช้กัญชาแห่งประเทศไทย” เรียกว่า “ลุงตู้” เล่าว่า เมื่อก่อนเขาก็เป็นแค่คนชอบสูบกัญชาคนหนึ่งที่มีอาชีพเป็นตำรวจ จนกระทั่งพ.ร.บ.ยาเสพติดประกาศใช้เมื่อปี 2522 เขาจึงตัดสินใจออกจากตำรวจชั้นประทวนมาขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก่อนหันมาทำยาดองขายเป็นอาชีพหลัก
บัณฑูรเล่าว่าช่วงปี 2556 น้องสาวของเขาป่วยเป็นมะเร็งโพรงมดลูก แม้ผ่านการฉายแสงและผ่าตัดมาแล้วก็ยังไม่หายดี เขาจึงหันมาสนใจกัญชาเต็มตัวและใช้ทักษะจากการต้มเหล้ามาใช้สกัดกัญชาเพื่อรักษาน้องสาว
“พอสถาบันมะเร็งนานาชาติออกมายืนยันว่าการรักษามะเร็งใช้กัญชาได้ผลชัดเจนที่สุด ผมก็ไม่รอสถาบันมะเร็งไทยแล้ว ผมเริ่มศึกษาหาข้อมูลจากในกูเกิลจนไปเจอคำอธิบายของ ริค ซิมป์สัน (Rick Simpson) ชาวอเมริกันที่สกัดกัญชาใช้รักษาตัวเองและสอนวิธีสกัดลงในยูทิวบ์ ผมก็เริ่มฝึกทำมาตั้งแต่ตอนนั้น” บัณฑูรกล่าวกับบีบีซีไทย ที่บ้านสวนของเขาย่านชานเมืองกรุงเทพฯ ที่อบอวลด้วยกลิ่นกัญชาสกัด
บัณฑูรบอกว่าซิมป์สันทำให้เขาตาสว่าง เพราะเคยเชื่อว่ามะเร็งต้องพึ่งพาเคมีบำบัดหรือฉายแสงเท่านั้น แต่ซิมป์สันอธิบายว่า ที่เชื่อแบบนั้นเพราะบริษัทยาและวงการสาธารณสุขปิดบังข้อมูลเพื่อผลกำไรทางการค้า ทำให้คนทั่วไปไม่เห็นทางเลือกอื่น ทั้งที่กัญชาถูกใช้เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บมานานแล้ว
“ถ้ามัวแต่กลัวกฎหมายที่ล้าหลังถ่วงความเจริญ ป่านนี้คนที่เขารักและคนที่หวังพึ่งให้เขาช่วยคงตายไปหมดแล้ว” บัณฑูรกล่าวขณะพาชมอุปกรณ์และวิธีการผลิตสารสกัดจากกัญชาในบ้าน
บัณฑูรกล่าวว่า พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด เคยออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่ากัญชาเป็นยา เพราะเขาใช้รักษาพี่สาวจนหายมาแล้ว ซึ่งเมื่อบีบีซีไทยตรวจสอบก็พบว่า เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2560 พล.ต.ท.สมหมาย เคยกล่าวกับนักข่าวในการแถลงการจับเครือข่ายนำเข้ากัญชา ขณะถือของกลางห่อหนึ่งซึ่งมีอักษร PX ว่า “ไปเปิดเว็บไซต์ดู ที่อเมริกาเขาทำวิจัย มันสามารถจะหยุดมะเร็งได้จริง ๆ … เพราะผมรักษาพี่สาวมาแล้ว”
กิจวัตรของบัณฑูรในแต่ละวันหลังจากตื่นนอนช่วงเช้ามืด เขานำกัญชาที่หาซื้อมาในราคากิโลกรัมละประมาณ10,000 บาทมาแช่กับเอทิลแอลกอฮอล์ราว 2 วัน เพื่อให้น้ำมันกัญชาคลายตัว หลังจากนั้นจึงนำไปต้มให้แอลกอฮอล์ระเหยไปจนเหลือแต่น้ำมันจากกัญชา ก่อนนำไปกรองตะกอนออกอีกครั้งแล้วบรรจุขวด
ห้องรับแขกผนังสีม่วงของบัณฑูรเป็นที่ต้อนรับผู้ป่วยใหม่ที่มาขอคำปรึกษาและคนไข้ประจำที่แวะเวียนมาซื้อสารสกัดกัญชาในขวดขนาด 5 มิลลิลิตร ส่วนหนึ่งของรายได้จากการขายถูกนำไปช่วยกลุ่มครอบครัวที่มีลูกป่วยจากโรคลมชักหรือสมองพิการ ที่บัณฑูรมอบของใช้จำเป็นและสารสกัดกัญชาให้ฟรี
บัณฑูรบอกว่าการใช้สารสกัดกัญชาและการทำเคมีบำบัดเป็นยุทธวิธีต่อสู้มะเร็งที่แตกต่างกัน
“เวลาคุณป่วยเป็นมะเร็ง ร่างกายคุณเหมือนกำลังทำสงคราม ที่ผ่านมาคุณใช้แต่คีโม เหมือนระเบิดโยนเข้าไป ทำให้ผู้บริสุทธิ์ตายเรียบ แต่กัญชาเป็นสไนเปอร์ เล็งตรงเป้า แม่น ร่างกายคุณก็ฟื้นไม่บอบช้ำ”
เขาบอกอีกว่าจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เขาไม่เคยบอกว่ากัญชาจะทำให้ชีวิตเป็นอมตะ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าใช้กัญชาแล้วจะไม่ตาย ได้ แต่กัญชาช่วยยืดระยะเวลาออกไป และรักษาให้หายขาดได้ในบางราย ส่วนคนที่ไม่หาย พวกเขาก็ไม่ทรมานจากความเจ็บปวดและความทุกข์จากการเสียเงินทองจำนวนมากเพราะการรักษาในโรงพยาบาล
“เหนื่อย… เหนื่อยกว่าเป็นตำรวจอีก เวลานอนแทบจะไม่มี เหนื่อยกับการต้องไปพูดให้สังคมเขารู้ ต้องออกไปต่างจังหวัด ออกไปสัญจร คนป่วยเราก็ต้องไปติดตามผล ก็โอเคนะถ้าเราก็คิดว่าไปเที่ยวด้วย”
“ถ้าองค์การเภสัชฯ รับไปทำก็คงจะเบาขึ้น โรงพยาบาลก็มารับคนไปรักษา แค่นั้นแหละ มันต้องเป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่ใช่คนเล็ก ๆ อย่างเรา”
เสียงจากแพทย์ผู้สนับสนุน
นพ.สมนึก ศิริพานทอง กรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย เป็นหนึ่งในแพทย์ส่วนน้อยราว 30 คนในเครือข่ายที่ช่วยรักษาผู้ป่วยด้วยสารสกัดกัญชา
เขาอธิบายว่าจากงานวิจัยหลายชิ้นของต่างประเทศระบุชัดเจนว่ากัญชาทำหน้าที่เหมือน TP53 ซึ่งเป็นยีนที่คอยปกป้องมะเร็งซึ่งมีอยู่ในตัวทุกคน และกัญชาก็ไม่ได้มีผลเสียต่อสุขภาพ ไม่เคยมีข้อมูลว่าคนที่ใช้กัญชาเกินขนาดแล้วเสียชีวิต นอกจากมีอาการเมาและความดันต่ำเท่านั้น
“ผู้ป่วยมะเร็งหลายคนที่ใช้กัญชามาให้ผมตรวจเลือดให้ ปรากฏว่าค่าเซลล์มะเร็งลดลงจริง แต่คนเหล่านี้คือคนที่ปฏิเสธการใช้คีโมกับฉายแสงมาแล้ว หลายคนตั้งคำถามกับผมว่าในไทยยังไม่มีงานวิจัยรองรับทำไมถึงออกมาพูดแบบนี้ ผมก็บอกว่าคุณมาดูสิคนป่วยตัวเป็น ๆ ที่ใช้กัญชายังมีชีวิตอยู่ ทั้งมะเร็งลำไส้ มะเร็งตับ ปลอกประสาทเสื่อม ก้านสมองอักเสบ แล้วใช้ชีวิตได้ปกติไม่ทุกข์ทรมาน นี่เป็นผลที่เกิดขึ้น ส่วนเหตุก็ต้องให้นักวิทยาศาสตร์ช่วยกันหาสิว่าเป็นเพราะอะไร แล้วช่วยกันออกมาพูดหน่อย”
นพ.สมนึก อธิบายว่าในกัญชามีสาร 2 ชนิดหลัก ที่ทำหน้าที่ร่วมกัน คือ สาร CBD (Cannabidiol) และสาร THC (Tetrahydrocannabinol) CBD ทำหน้าที่ช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ลดการอักเสบบวมโตของแผลหรือเนื้องอก ระงับเซลล์มะเร็งที่กำลังเติบโต ระงับการเกร็งหรือชักกระตุก และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในระบบประสาทได้
THC มีผลในทางประสาท ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม หรือที่หลายคนที่ใช้แล้วรู้สึกเมา อีกทั้งยังเป็นตัวที่ทำให้ระบบประสาทสัมผัสทำงานดีขึ้น ช่วยกระตุ้นให้อยากอาหาร
วิธีใช้กัญชาทางการแพทย์ที่คนทั่วไปรู้จักดี คือ การสูบ แต่นพ.สมนึกบอกว่า วิธีหยอดใต้ลิ้นด้วยสารสกัดจะได้รับทั้งสาร CBD และ THC สูงกว่า ซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยโรคทางสมองเพราะกัญชาจะซึมเข้าสู่ระบบประสาทได้เร็วกว่าการกิน สำหรับผู้ป่วยโรคผิวหนังก็สามารถใช้ทา ส่วนรายที่รักษาริดสีดวง มะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็งปากมดลูก เขาก็แนะนำให้ใช้วิธีเหน็บทางทวารหรือช่องคลอด
แพทย์กระแสหลักยังไม่ยอมรับ
แพทยสภายังไม่ให้การยอมรับกัญชาเป็นยารักษาโรค หลังจากได้ขอความเห็นจาก ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย (ทำหน้าที่พิจารณางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรค) ซึ่งระบุว่ากรณีศึกษาในงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชายังมีจำนวนน้อยเกินไป และบางส่วนยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะรับรองให้กัญชาเป็น “ยารักษาโรค” ซึ่งหมายถึงยาที่สามารถรักษาโรคได้ด้วยตัวมันเอง
“งานวิจัยที่มีอยู่ยังไม่สามารถตัดสินได้ว่ารักษาโรคได้ในฐานะยารักษาโรค เราต้องรักษาต้นตอของโรค ไม่ใช่ปลายเหตุของโรค เราไม่ได้เป็นตัวร้ายนะ เพียงแต่ตอนนี้ผลที่ออกมายังไม่รองรับ แต่ถ้าในอนาคตมีการศึกษามารองรับก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้” พ.ญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา กล่าวกับบีบีซีไทย
พ.ญ.ชัญวลี อธิบายว่าหลักการของแพทย์ประการสำคัญคือ “Do no harm” กล่าวคือ แพทย์จะไม่ทำอะไรที่ก่อเกิดความเสี่ยงแก่ผู้ป่วย ซึ่งการประกาศว่ากัญชารักษาโรคได้ อาจทำให้ผู้ป่วยหลายคนปฏิเสธการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันที่มีการศึกษารองรับ แต่ยืนยันว่าแพทยสภาไม่ได้ต้องการปิดกั้นการรักษาหรือทางเลือกของผู้ป่วย
“การที่จะบอกว่าเอากัญชามารักษาโรค อาจจะเป็นผลเสียกับคนไข้ที่เขาควรจะได้เข้ารักษากับแพทย์ปัจจุบัน การใช้คำว่ากัญชารักษาโรค อาจจะไม่เป็นธรรมกับคนไข้ แต่การเอามาใช้เสริมก็ไม่ได้เป็นเรื่องขัดข้อง” พ.ญ.ชัญวลี แสดงความเห็น และแนะว่า
“อยากขอร้องว่าอย่าละเลยการรักษาแผนปัจจุบัน เพราะมีการศึกษาวิจัยที่มันลงรายละเอียดเยอะแล้ว ว่าแต่ละระยะ มีโอกาสหายเท่าไหร่ ในบางชนิด มีโอกาสหายสูง ถึง 90 เปอร์เซ็นต์”
ผู้ป่วยที่ใช้กัญชา
เมื่อ 4 ปีก่อน วิชัย ทองสวัสดิ์ วัย 86 ปี มีอาการผิวหนังพุพองทั่วร่างกาย เมื่อเริ่มอักเสบ จึงไปตรวจที่โรงพยาบาล พบว่าเป็นมะเร็งผิวหนังระยะที่ 4
“หมอบอกให้ทำใจนะคุณตา เพราะเป็นระยะสุดท้ายแล้ว อยู่ในช่วงลุกลาม หมดทางรักษา ให้ได้แต่ยาแก้ปวดมากิน ผมก็ทำใจเพราะคิดว่าอายุขนาดนี้แล้ว ต่อให้ไม่ป่วยก็คงอยู่อีกไม่นาน แต่ตอนนั้นลูกสาวหากัญชามาให้ใช้ ทาทั้งตัวเหมือนทาโลชั่น ทาเช้าทาเย็น แล้วก็กินและหยอดใต้ลิ้นเพื่อให้หลับ จากที่เคยปวดแสบปวดร้อนก็ค่อย ๆ หาย” วิชัยกล่าวกับบีบีซีไทยที่บ้านของเขาในจ.พิษณุโลก
วิชัยเปิดเสื้อให้ดูร่องรอยแผลเป็นที่หน้าอก ก่อนเล่าว่า เมื่อก่อนผิวหนังของเขามีกลิ่นเหม็นและเต็มไปด้วยน้ำเหลือง แต่พอทาไปได้สัก 6 เดือน แผลก็เริ่มแห้งลง จากที่ลุกเดินไม่ไหวก็เดินได้ปกติ ลูกสาวของเขาเป็นคนนำสารสกัดกัญชาจากบัณฑูรมาให้ใช้เป็นประจำ สำหรับเขาการมีชีวิตอยู่จนถึงทุกวันนี้ถือว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อแล้ว
“วัตร” เจ้าของธุรกิจรถรับส่งนักเรียนวัย 37 ปี มองว่ากัญชาเป็นทางเลือกสำหรับพวกเขาเมื่อการแพทย์แผนปัจุบันไม่มีเวลาหรือคำตอบให้กับพวกเขา
“กัญชามันเป็นวิธีรักษาที่ใครก็เข้าถึงได้ อย่างผมเนี่ย ผมหาหมอเนี่ย การเข้าถึงมันยาก โรงพยาบาลทั่วไปที่เขาจะใส่ใจเราแบบดี ๆ มันน้อย” วัตรผู้ป่วยมะเร็งลำไส้กล่าวขณะรอรับสารสกัดกัญชาในคลินิกของลุงตู้
“ของผมแปลก อาการมันชัด แต่หมอหาเท่าไหร่เขาก็ยังไม่ได้เข้าถึงขั้นตอนที่เป็นการรักษามะเร็งซักที แต่เรารู้ว่าเราเป็นแน่ ๆ คืออาการมันฟ้องทุกอย่าง กินยาสารพัด รักษามาเป็นปี มันก็ไม่รู้สึกอะไรเลย จนสุดท้ายเรารู้สึกว่ามันใช่ ก็เลยหาข้อมูลว่าอะไรดี จนสุดท้ายก็มาเจอลุงตู้”
เขาศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเป็นหลักและเห็นว่าต่างประเทศมีการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายจึงรู้สึกมั่นใจ เขาใช้สารสกัดด้วยหยอดใต้ลิ้นและเหน็บทางทวารหนักวันละ 2 เวลา เช้า-เย็น มาเป็นเวลาเกือบครึ่งปีแล้ว และวัตรก็อ้างว่าเขารู้สึกดีขึ้น
“ก่อนหน้านี้คนไทยก็ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั่วโลกก็เหมือนกัน ที่ไหน ๆ มันก็มีหลักฐานในหนังสือว่ามันเป็นยาสมัยก่อน มาถึงรุ่นปู่รุ่นย่าเราก็ใช้กันมา เพิ่งจะมาผิดกฎหมายเมื่อไม่นานนี้เอง”
กัญชาในกระแสโลก
ทุกวันนี้หลายประเทศทั่วโลกอนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย อาทิ เนเธอร์แลนด์ โคลอมเบีย อุรุกวัย แคนาดา และออสเตรเลีย รวมทั้งในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งนับเป็นรัฐที่ 6 ของสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้ขายปลีกกัญชาเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากอนุญาตให้สามารถใช้กัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ได้เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว
เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ประเทศเปรูเพิ่งผ่านกฎหมายอนุญาตการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ หลังจากตำรวจได้บุกตรวจบ้านของ แอนา อัลวาเรซ ซึ่งเธอใช้เป็นแล็บสกัดกัญชาชั่วคราวเพื่อรักษาลูกชายของเธอที่ป่วยเป็นโรคลมชัก ร่วมกับแม่อีกหลายคนที่มีลูกป่วยคล้ายกัน
อย่างไรก็ตามในบางประเทศ กระแสอาจหวนกลับ อย่างเช่น ในสหรัฐฯ นายเจฟฟ์ เซสชันส์ รมว.กระทรวงยุติธรรมก็ออกมาระบุเมื่อต้นเดือนมกราคม 2561 ว่าเขากำลังพยายามหยุดยั้งประกาศที่ออกมาในสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่ให้รัฐต่าง ๆ ทำให้การใช้กัญชาเป็นเรื่องถูกกฎหมายได้ และประกาศนี้เองที่ทำให้การใช้กัญชาขยายตัวขึ้นมากในสหรัฐฯ
กัญชาเป็นยาในการแพทย์แผนไทย
กัญชาเคยถูกใช้เป็นยาในการแพทย์แผนไทย ซึ่งมูลนิธิสุขภาพไทยระบุในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 1-7 ก.ค. 2559 ว่าหลักฐานปรากฎใน “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” ตำราแพทย์แผนไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมียากว่า 10 ตำรับที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบเมื่อปี 2413
ต่อจากนั้นราว 40 ปี สนธิสัญญาควบคุมยาเสพติดฉบับแรกของโลก ณ กรุงเฮก เมื่อปี 2455 ได้ทำให้หลายประเทศทั่วโลกที่ร่วมลงนาม รวมทั้งประเทศไทย หรือ สยาม ณ เวลานั้น เริ่มปรับกฎหมายเพื่อควบคุมยาเสพติดในช่วงต้นศตวรรษที่ 20
จนกระทั่งในสมัยของพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ประเทศไทยได้มีพระราชบัญญัติกันชา พ.ศ. 2477 ซึ่งห้ามให้ผู้ใดปลูก นำเข้า ซื้อขาย หรือเสพกัญชา ยกเว้นจะได้รับอนุญาตโดยรมว.มหาดไทยเพื่อการใช้ประโยชน์ในทางโรคศิลปะ ตามมาด้วย พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นพื้นฐานของกฎหมายยาเสพติดที่บังคับใช้ในปัจจุบัน
เมื่อโลกมองปัญหายาเสพติดในมุมใหม่
ปี 2546 นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นประกาศนโยบายทําสงครามกับยาเสพติดด้วยการปราบปรามและลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากคดีฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดกว่า 1,370 คนภายใน 3 เดือน
ผ่านไป 14 ปี ผู้ต้องขังในคดียาเสพติดนับเป็นจำนวนเกินครึ่งของผู้ต้องขังในคุกไทย และไม่ได้ทำให้ปัญหายาเสพติดลดลง จนนำมาซึ่งการตั้งคำถามว่ามาตรการรุนแรงเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องหรือไม่
การประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก (UNGASS) เมื่อปี 2559 ได้เปลี่ยนมุมมองต่อปัญหายาเสพติดว่าเป็นเรื่องของสุขภาพ ระบบสาธารณสุข อาชญากรรม ต่างจากแนวทางเดิมซึ่งเน้นการปราบปรามและลงโทษในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา
ไทยเริ่มตามโลก?
นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่ามติดังกล่าวมีส่วนทำให้ประเทศไทยพิจารณายกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่จะนำกฎหมายยาเสพติดทั้ง 7 ฉบับมารวมเป็นฉบับเดียว รวมทั้งเปิดช่องให้สามารถใช้ยาเสพติดเพื่อศึกษาและวิจัยได้สะดวกขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนพิจารณาของครม. ก่อนเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
การครอบครองกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัยปัจจุบันสามารถทำได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขและสามารถทดลองกับสัตว์เท่านั้น เพราะหากใช้กับคนจะเท่ากับเป็นการเสพซึ่งผิดกฎหมาย
“ประเทศไทยเราก็มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาว่าเราจะปรับระดับของกัญชง กัญชา กระท่อม และเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้า ว่าเราจะปรับระดับของการเป็นยาเสพติดมาไว้ตรงไหน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มองว่า ศึกษาว่า ยาเสพติด 4 ตัวนี้มันน่าจะมีประโยชน์ทางการแพทย์” เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว
กัญชง ซึ่งเส้นใยสามารถนำไปผลิตเสื้อกันกระสุนได้ ปัจจุบันรัฐบาลได้อนุญาตให้ทดลองปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตเป็นเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาข้อดีข้อเสียของการเคี้ยวใบกระท่อมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตในหลายจังหวัดทางภาคใต้
อย่างไรก็ตามคณะกรรมการดังกล่าวยังมองว่ากัญชายังเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ซึ่งยังไม่อนุญาตให้ใช้เพื่อการบันเทิง “เพราะจากการวิจัยก็พบว่าการใช้กัญชาเพื่อการบันเทิงมันอาจจะมีผลต่อสมอง โดยเฉพาะเยาวชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องอาจจะมีผลร้ายต่อร่างกายหรือสมอง” เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าว
“พูดถึงกัญชา ก็มีการวิจัยว่าสามารถช่วยรักษาโรคได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งหรือโรคเกี่ยวกับระงับการปวด อะไรต่าง ๆ แต่ยังไม่มีผลวิจัยที่เป็นชิ้นเป็นอัน รับรองอย่างถูกต้อง” นายศิรินทร์ยากล่าว
“ประมวลกฎหมายใหม่จะเน้นการอนุญาตให้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์สามารถทดลองกัญชาว่ามีประโยชน์อย่างไร ถ้าทำวิจัยออกมาแล้วสามารถใช้ในทางการแพทย์ได้ มันก็จะมีประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป”
เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้รายงานว่า นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้เลือกพื้นที่ขนาด 5,000 ไร่ใน จ.สกลนคร เพื่อทดลองปลูกกัญชาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ก่อนที่หนึ่งวันต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ปฏิเสธว่าไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน
“ใครไปคิดมาเองหรือเปล่า ผมไม่รู้ ต้องไปดูว่าวันนี้ต่างประเทศเขาทำอะไรในเรื่องเหล่านี้บ้าง ลองไปตามดูก็แล้วกัน … กัญชง เราก็ใช้เฉพาะในเรื่องของการมาทำเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเราต้องควบคุมให้ได้ด้วย เพราะเป็นพืชที่มีสารเสพติด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
“แต่ในต่างประเทศตอนนี้กำลังปลูกกันเยอะแยะไปหมด ที่อเมริกานี่ปลูกกันเพื่อนำไปเป็นยา แต่ของเราทำอะไรต่าง ๆ ก็ตาม ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมการแพร่ระบาดของยาเสพติดทุกประเภท ซึ่งคนไทยก็ยังรับไม่ได้ในเรื่องนี้ ก็ต้องค่อย ๆ ศึกษากันไปก่อน”
cr. https://www.bbc.com/thai/thailand-42748753