บทความ

กัญชา กัญชง จากยาเสพติดสู่พืชเศรษฐกิจ

ก่อนอื่น ณ ปัจจุบัน กัญชา และกัญชง ยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขอยู่นะคะ เพียงแต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้กัญชาและกัญชงที่ปลูกในประเทศ สามารถนำบางส่วนมาใช้เพื่อประโยชน์ทางอาหารและการแพทย์ได้เท่านั้น โดยส่วนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ของกัญชาและกัญชงจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อย

ทั้งกัญชาและกัญชง จะมีสารสำคัญอยู่ 2 ชนิด คือ THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol) โดย THC เป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้ม ช่วยลดอาการปวด ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร รักษาผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด ส่วน CBD เป็นสารที่มีฤทธิ์ทางการแพทย์ เช่น การลดอาการเจ็บปวด หรือช่วยต้านอาการของโรคลมชัก โดยปัจจุบัน THC ยังจัดว่าเป็นสารเสพติด ส่วน CBD เริ่มมีการยอมรับว่าสามารถใช้รักษาโรคได้

เริ่มจากกัญชา ส่วนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ถือเป็นยาเสพติด คือ ใบ กิ่ง ก้าน เปลือก ลำต้นและสารสกัด CBD (สารที่มีฤทธิ์ทางการแพทย์ ที่กล่าวถึงในข้างต้น) แต่ต้องมี THC (สารที่ทำให้เคลิบเคลิ้ม) ไม่เกิน 0.2% โดยส่วนของช่อดอก และเมล็ดยังถือเป็นสารเสพติดอยู่ สำหรับกัญชง จะมีส่วนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ได้แก่ เมล็ด สารสกัดจากเมล็ด ช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน เปลือก ลำต้น

จะเห็นได้ว่าใน 1 ต้นของกัญชา และกัญชง มีทั้งส่วนที่เป็นยาเสพติด และไม่ใช่ยาเสพติด ดังนั้น การปลูกจึงต้องได้รับอนุญาต และใช้เมล็ดพันธุ์ที่ถูกกฎหมาย จากสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นพื้นที่ปลูก แต่ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถปลูกได้นะคะ โดยปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้ บุคคลเพียง 5 กลุ่ม ที่สามารถปลูกกัญชาและกัญชงได้ คือ หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม สัตวแพทย์หรือแพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีการเรียน การวิจัยด้านการแพทย์และเภสัชศาสตร์

ซึ่งปัจจุบันที่ได้รับอนุญาตถูกต้องแล้วคือ มหาวิทยาลัยรังสิต เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมาย จากข้อมูลข้างต้น หลายคนอาจคิดว่าถ้าหากต้องการปลูกก็สามารถรวมกลุ่มกัน 7 คนขึ้นไป เพื่อจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนแล้วขออนุญาตปลูกได้ ซึ่งในความเป็นจริงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หากจะขออนุญาตปลูกต้องแสดงสัญญาจากคู่สัญญา ซึ่งจะต้องเป็นกลุ่มคนที่กล่าวข้างต้น ที่จะนำผลผลิตจากการปลูกไปใช้

จะเห็นว่าถึงจะมีการปลดล็อคให้มีการใช้ประโยชน์จากกัญชา และกัญชงแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีการควบคุมที่เข้มงวด ยังไม่สามารถปลูกได้เหมือนพืชสวนครัวตามบ้านทั่วไปได้

Cr. https://www.starfishlabz.com/blog/479-กัญชา-กัญชง-จากยาเสพติดสู่พืชเศรษฐกิจ-ep-1

Related Posts