รู้จัก ‘อาหารกัญชา’ รับประทานยังไงให้ถูกต้อง
หลังจากปลดล็อกกฎหมายยาเสพติด ให้นำ “กัญชา กัญชง” บางส่วนมาใช้ประโยชน์ ได้สร้างปรากฏการณ์ “คนแน่นร้านอาหาร” ในหลายจังหวัด เพราะใครๆ ก็อยากไปลิ้มลองเมนูอาหารที่มีส่วนผสม “กัญชา” ถูกนำมาปรุงแต่งหลากเมนูอาหารคาวหวาน ทั้งตำรับไทยและเทศ รับประทานกันเคลิบเคลิ้ม
แต่รู้หรือไม่!! กัญชามีประโยชน์มากกว่านั้น สรรพคุณทั้งช่วยฟื้นฟูร่างกาย และเป็นเสมือนยาอายุวัฒนะ ถูกยืนยันในงานเปิดตัวเมนูอาหาร กัญชาเป็นยา จัดโดย กลุ่มบริษัทไอดาเมดิคอล ร่วมกับ ครัวอัปสร ณ ร้านอาหารครัวอัปสร สาขาวิภาวดี 50 กรุงเทพฯ
โชติอนันต์ พฤทธิ์พรชนัน นักวิจัยและออกแบบอาหาร จากกลุ่มบริษัทไอดา เมดิคอล เล่าว่า ขณะนี้มีคนไทยจำนวนมากเข้าใจผิดเรื่องกัญชา อย่างเมนูอาหารที่เอาใบกัญชามาแปะเป็นดิสเพลย์ “อย่างนี้ไม่เรียกว่าเมนูกัญชา” เพราะไม่สามารถดึงสารออกฤทธิ์ในกัญชาออกมาครบถ้วน รับประทานก็ไม่ต่างกับรับประทานผักทั่วไป อีกทั้งไม่รู้ว่า กัญชาแต่ละช่วงอายุการเก็บเกี่ยว รวมถึงช่วงเวลาเก็บเกี่ยวของวัน ใบกัญชาระหว่างกิ่ง ใบกัญชาระหว่างก้าน ล้วนให้สารออกฤทธิ์แตกต่างกัน โดยผลแล็บกัญชาแนะนำว่า ใบกัญชาที่ให้สารออกฤทธิ์สูงสุดคือ ใบกัญชาอายุ 2-3 เดือน เก็บเกี่ยวช่วงเวลา 05.00-09.00 น.ของวัน
โชติอนันต์ อธิบายสารออกฤทธิ์ในกัญชาคือ สารแคนนาบินอยด์ เป็นสารออกฤทธิ์ 120 กว่าชนิด หนึ่งในนั้นประกอบด้วย สาร THC (Tetrahydrocannabinol) ช่วยลดปวด เมาเคลิ้ม ใจสั่น หากเสพเยอะทำให้ติดได้ และสาร CBD (Cannabidiol) ต้านการเมาเคลิ้ม ควบคุมการปวดและชัก แต่ยังไม่พบว่าเสพเยอะแล้วติด แต่สารออกฤทธิ์เหล่านี้เมื่อรับประทานเข้าไป จะกระตุ้นระบบร่างกายให้ฟื้นฟู เช่น สารเทอร์ปีน (terpene) ช่วยฟื้นฟูต่อมรับรสกลับมาทำงานดี, ช่วยสร้างเซลล์ร่างกายใหม่ อย่างผู้ป่วยมะเร็งที่ให้ยาเคมีบำบัด ฆ่าเซลล์มะเร็งและเซลล์ดีในร่างกายตายหมด กัญชาจะสร้างเซลล์ดีเพิ่ม เช่นเดียวกับผู้ป่วยสมองเสื่อม กัญชาร่วมกับโกรทฮอร์โมน สร้างเซลล์สมองใหม่ได้
ส่วนวิธีจะทำให้สารออกฤทธิ์เหล่านี้ออกมาได้ครบ โชติอนันต์ แนะนำว่า ต้องต้มด้วยความร้อนอุณหภูมิ 122 องศาเซลเซียส หรือต้มสกัดแบบวิธีโบราณ ก็ได้หมด อย่างต้มกับเนื้อปลาคาวๆ เช่น ต้มปลาเก๋า หรือจะต้มเนื้อ ต้มไก่
ในงานเปิดเมนูตัวอย่างใน 25 เมนูอาหารกัญชา ที่ไอดา เมดิคอลได้ศึกษาวิจัย และเปิดให้ลิ้มรสได้ที่ร้านอาหารครัวอัปสร 15 สาขา แบ่งเป็น 3 ระดับคือ
1.เมนูกัญชานิยม เหมาะกับวัยทำงาน รับประทานเป็นยา เริ่มที่เมนู “สเต๊กกัญชานิยม” เสิร์ฟเนื้อแองกัสฉ่ำๆ มัน นุ่มเด้ง จากวัวที่เลี้ยงด้วยกัญชาช่วง 2 เดือนสุดท้าย หมักสูตรเฉพาะซึ่งมีส่วนผสมกัญชาจนเข้าเนื้อ
“ขาหมูกัญชา” เสิร์ฟเนื้อหมูนุ่มละมุน “ลูกชิ้นกัญชานิยม” ลูกชิ้นเนื้อนุ่ม ไม่ง้อน้ำจิ้มก็อร่อย เพราะหมักด้วยใบกัญชาสด โรยผงกัญชาสูตรเฉพาะ หรือ “พิชซ่ากัญชา” ที่ใช้ใบกัญชาสดมาทำน้ำหมักแป้ง ใส่ชีสเบิ้มๆ ก่อนโรยด้วยผงกัญชาปิดท้าย
“จริงๆ กัญชาเหมาะกับเมนูที่ใช้น้ำมันและความร้อน ถึงจะสามารถขับสารออกฤทธิ์ออกมาได้ดีที่สุด และใน 25 เมนูแนะนำเป็นเมนูสุขภาพ ฉะนั้นเราจะไม่ใส่น้ำตาลและผงชูรสเลย แต่กลายเป็นว่าสามารถทำให้อาหารออกมาด้วยรสชาติหวานกลมกล่อม ซึ่งนี่ไม่ใช่รสชาติของกัญชา แต่เป็นเพราะสารออกฤทธิ์ในกัญชาที่ไปกระตุ้นต่อมรับรส ให้กลับมาทำงานได้ดีขึ้น” โชติอนันต์กล่าว
2.เมนูกัญชารส เหมาะสำหรับกลุ่มบุคคลทั่วไป/วัยรุ่น รับประทานเพื่อความบันเทิง เริ่มที่ “หมาล่ากัญชารส” เสิร์ฟเนื้อแองกัสนุ่มๆ กุ้งเด้งๆ หมักสูตรเฉพาะมีส่วนผสมกัญชา หรือ “ปลาสลิดกัญชารส” เสิร์ฟเนื้อปลาสลิดกรอบๆ ไร้ก้าง ผัดสูตรเฉพาะ 3 รส ด้วยใบกัญชากรอบ พริกแกง แดดเดียว
3.เมนูกัญชรา เหมาะสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย รับประทานเป็นยาอายุวัฒนะ และเหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เริ่มที่ เมนูฮ่องเต้อย่าง “ซุปเป็ดทองคำเขียว” แนะนำให้ซดน้ำซุปซึ่งเป็นพระเอกของถ้วยก่อน อุ่นๆ รสชาติกลมกล่อม ภายในอุดมไปด้วยสารออกฤทธิ์ในกัญชา แล้วกินเนื้อเป็ดตาม
นอกจากนี้ ยังมีเมนูเครื่องดื่มกัญชา อาทิ ชากัญชรา ไวน์กัญชาสุขภาพ โกโก้ กาแฟกัญชา และ ขนมคุกกี้กัญชา
“เมนูอาหารและเครื่องดื่มกัญชาเหล่านี้ เราวิจัยและทดสอบมาแล้ว ว่าผู้รับประทานเข้าไปจะได้รับสารออกฤทธิ์ที่พอดี ไม่เมาจนแฮงก์โอเวอร์ ตื่นมาแล้วไม่มึนหัว ส่วนคำแนะนำว่าไม่ควรบริโภคกัญชาเกิน 8 ใบต่อวัน ก็อย่างที่บอกว่าใบกัญชาแต่ละส่วนของต้น และช่วงเวลาเก็บเกี่ยว ให้สารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกัน และที่สำคัญแต่ละคนยังมีภูมิต้านทานต่างกัน บางคนรับประทานน้อยแต่ออกอาการมาก เช่น เมา เดินเซ หัวเราะ บางคนรับประทานมากแต่ออกอาหารน้อย เช่น สมองสดชื่น”
“ฉะนั้นจะบอกว่ามันไม่ตายตัว” โชติอนันต์กล่าว