ประเทศไทยกำลังเป็นอีกประเทศหนึ่งที่พยายามจะผลักดันกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดของไทย ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการตอบรับทั้งจากหน่วยงานรัฐ กรมการแพทย์และประชาชน แต่ถึงแม้ว่าจะมีรายงานทางการแพทย์ที่ระบุว่ากัญชานั้นมีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย แต่ก็ยังมีหลายกลุ่มที่รู้สึกเป็นกังวลเกี่ยวกับการผลักดันนี้ว่าถ้าหากกัญชากลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายแล้วนั้น จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมหรือไม่ อาจจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ติดยาเสพติดอันจะนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมามั้ย เราจึงจะลองนำข้อดีข้อเสียของกัญชามาเปรียบเทียบกัน เพื่อวิเคราะห์ว่าหากประเมินจากข้อดีข้อเสียแล้วการผลักดันให้กัญชาถูกกฏหมายนั้นจะมีผลดีผลเสียอย่างไร แล้วถ้าหากผลักดันกัญชาให้ถูกกฏหมายจะคุ้มค่าหรือไม่อย่างไร
ในวงการแพทย์นั้นมีการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งหากกัญชาได้รับการผลักดันให้เป็นสิ่งถูกกฏหมาย ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้รับการรักษา ทุเลาอาการเจ็บปวดทรมานที่เกิดจากการเจ็บป่วยได้
ประโยชน์ทางการแพทย์ของกัญชา
- บรรเทาผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดในการรักษามะเร็ง
มีรายงานประโยชน์ทางการแพทย์ว่ากัญชาสามารถนำมาใช้ในการรักษาผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาอาการของโรคมะเร็ง การทำเคมีบำบัดจะส่งผลกระทบทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถใช้ยาแก้คลื่นไส้อาเจียนทั่วไป เพราะใช้ไม่ได้ผล ทั้งยาเหล่านั้นยังจะรบกวนประสิทธิภาพของการรักษาด้วยเคมีบำบัดด้วย แต่เดิมต้องใช้ยาที่สั่งเข้ามาทำให้รัฐบาลและผู้ป่วยเองก็สูญเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ หากกัญชาถูกถอดออกจากรายชื่อสารเสพติด ก็จะสามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคมะเร็ง ทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับรัฐบาลด้วย
- บรรเทาอาการโรคหอบหืด
กัญชายังมีความสามารถในการช่วยขยายหลอดลม จึงนำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการหอบหืด
- ปรับความดันภายในลูกตาเพื่อรักษาอาการต้อหิน
คนที่เป็นโรคต้อหิน จะมีความดันภายในลูกตาสูงกว่าคนทั่วไป และบางครั้งการผ่าตัดเองก็สร้างความเสี่ยงให้กับผู้ป่วยมากเกินไป การให้กัญชากับผู้ป่วยจะช่วยลดความดันภายในลูกตาลง ซึ่งจะช่วยชะลอและยับยั้งอาการไม่ให้เป็นหนักได้
- ประโยชน์ทางด้านการวิจัยเพื่อเป็นยา
หากกัญชาถูกกฎหมายแล้ว ในทางการแพทย์สามารถนำกัญชามาวิจัยและพัฒนายาจากกัญชาได้ ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อผู้ป่วยและต่อประเทศที่จะได้มียาไว้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้น
- สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศได้
แต่เดิมหากผู้ป่วยรายใดต้องการใช้กัญชาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย ต้องเดินทางไปต่างประเทศที่กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย แต่หากสามารถผลักดันให้ใช้กัญชาในประเทศได้ ก็จะลดค่าใช้จ่าย และยังเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาลได้ด้วย
แต่ใช่ว่าจะมีแต่ประโยชน์ทางการแพทย์อย่างเดียว อย่างที่บอกว่า เมื่อมีผลดี กัญชาเองก็มีผลเสียเช่นกัน ในแง่ของผลกระทบที่น่ากังวลว่าจะเกิดขึ้นได้จากการให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฏหมายคือ
- กัญชาก่อให้เกิดโทษต่อระบบประสาท
กัญชามีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ร่าเริง พูดเก่ง หัวเราะสนุกสนาน แต่พอสักพักหนึ่งฤทธิ์ของกัญชาจะเปลี่ยนเป็นการกดประสาทแทน ผู้เสพจึงมีอาการเซื่องซึม ง่วงนอน เชื่องช้า และเมื่อเสพเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องกันในปริมาณมาก อาจจะทำให้เกิดอาการประสาทหลอน เกิดความสับสน หูแว่ว คิดว่าจะมีคนมาฆ่า ฯลฯ
- กัญชาทำลายร่างกาย
กัญชาทำให้สมรรถภาพของร่างกายเสื่อมลง เมื่อได้รับเป็นระยะเวลานานไปร่างกายจะอ่อนแอ เสื่อมโทรม ทำลายระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เกิดโรคทางกายต่าง ๆ เช่นปัญหาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง น้ำหนักตัวลด เกิดอาการอ่อนเพลีย ฯลฯ
- ปัญหาสังคมที่อาจจะตามมา
กัญชาออกฤทธิ์ทั้งต่อร่างกายและระบบประสาท หากไม่มีการควบคุมการใช้งานกัญชาอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้เกิดปัญหาตาม ทั้งปัญหาทางด้านสังคม และการสูญเสียทรัพยากรบุคคล ซึ่งทำให้ประเทศขาดโอกาสในหลาย ๆ ด้าน
จะเห็นว่าการผลักดันให้กัญชาออกจากรายชื่อสารเสพติด มีทั้งโทษและประโยชน์ที่ต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ และต้องมีการวางเงื่อนไขให้รัดกุม เพื่อให้การนำไปใช้นั้นเกิดประโยชน์ตามที่ตั้งใจเอาไว้จริง ๆ