หลายคนสงสัยว่า “กัญชา” จัดเป็นพืชเสพติด แต่เพราะเหตุใด ประเทศไทยจึงคลายล็อกให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และจริงๆปัจจุบันสารสกัดจากกัญชาสามารถรักษากลุ่มโรคอะไรได้บ้าง..รักษาสารพัดโรคได้จริงหรือ..
มาทราบคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้จากนพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กรรมการในคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากกัญชา เพื่อการศึกษาวิจัยและประโยชน์ทางการแพทย
• ทำไมกัญชาจึงถูกคลายล็อกให้ใช้ทางการแพทย์
นพ.สมศักดิ์ อธิบายว่า ประเทศไทย เคยมีการใช้กัญชาเป็นส่วนหนึ่งของสมุนไพร ที่ใช้ประกอบในตำรับของการแพทย์แผนไทย รวมถึงนำมาประกอบอาหารมามากกว่า 300 ปี ตั้งแต่โบราณ แต่ต่อมาถูกห้ามนำมาใช้ เพราะมีฤทธิ์เสพติด กัญชา จึงถูกจัดเป็น ยาเสพติดประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นไปโดยองค์กรคณะกรรมการยาเสพติดโลก ที่ประเทศไทยเป็นภาคีก็ต้องรับมา แต่ในต่างประเทศ ก็มีหลายประเทศมีงานวิจัยออกมาจำนวนมากว่า สารสกัดจากกัญชาสามารถนำมาใช้รักษาโรคได้ และมีการนำสารสกัดจากกัญชามาผลิตเป็นยา และขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ จึงเป็นที่มาของประเทศไทยที่ไม่ต้องการปิดกั้นโอกาส จึงคลายล็อก เพื่อใช้ทางการแพทย์ ไม่ใช่ปลดล็อก เพราะกัญชายังคงเป็นยาเสพติดประเภท 5
• วงการแพทย์แผนปัจจุบันใช้ทางการแพทย์กลุ่มโรคอะไรบ้าง
นพ.สมศักดิ์ ย้ำว่า ก่อนอื่นต้องบอกว่า ในวงการแพทย์แผนปัจจุบัน ชัดเจนว่า สารสกัดกัญชาไม่ได้ใช้เป็นทางเลือกที่ 1 แต่จะใช้ในทางเลือกอื่นๆ เช่น ดื้อต่อยาหรือใช้ยาที่มีอยู่ไม่ได้ประสิทธิภาพอย่างไรก็ตาม สำหรับการรักษาโรคนั้น ทางคณะพิจารณาการใช้กัญชาทางการแพทย์นั้น เราแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 โรคหรือภาวะที่สารสกัดจากกัญชา ได้ประโยชน์
โดยต้องมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนอย่างชัดเจน ซึ่งการนำไปใช้ใน 4 โรค/ภาวะได้แก่
1. โรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา
2. ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล
3. ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
4. ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆไม่ได้ผล
กลุ่มที่ 2 โรคหรือภาวะที่สารสกัดจากกัญชา น่าจะมีประโยชน์
ในการควบคุมอาการของโรค ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำมาใช้กับผู้ป่วยเฉพาะราย และควรมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนและทำการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการนำมาใช้ ได้แก่
•โรคพาร์กินสัน
•โรคอัลไซเมอร์
•โรคปลอกประสาทอักเสบ (demyelinating disorders)
•โรควิตกกังวล(generalized anxiety disorder)
•ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
กลุ่มที่ 3 โรคหรือภาวะที่สารสกัดจากกัญชา อาจได้ประโยชน์ในอนาคต
มีความจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลประสิทธิผล ความปลอดภัยและประสิทธิผลของการใช้สารสกัดกัญชา โดยทำการศึกษาในขั้นหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง ก่อนทำการศึกษาในคนเป็นลำดับต่อไป เนื่องจากในปัจจุบันข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนว่า กัญชามีประโยชน์ในการรักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ยังมีไม่เพียงพอ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคมะเร็งจึงควรได้รับการรักษาตามวิธีมาตรฐานทางการแพทย์ในปัจจุบัน หากเลือกใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาในการรักษาโรคมะเร็งแล้ว อาจทำให้ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิผลด้วยวิธีมาตรฐานได้
“สิ่งสำคัญในการใช้กัญชาทางการแพทย์นั้นผู้สั่งใช้หรือสั่งจ่ายได้นั้นต้องเป็นแพทย์ เภสัชกร ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์ และได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ให้เป็นผู้สั่งใช้หรือสั่งจ่ายกัญชาทางการแพทย์ได้
ในการรักษาจำเป็นต้องมีการซักประวัติและสื่อสารกับผู้ป่วยมากๆ ซึ่งจะมีการติดตามอาการหลังการให้กัญชาทางการแพทย์ด้วยทั้งหมด แต่กลุ่มที่ 3 ยังไม่ถึงขั้นจ่ายให้ผู้ป่วย ยังอยู่ในระดับห้องปฏิบัติการ หรือระดับหลอดทดลอง สิ่งสำคัญต้องย้ำว่า การรักษาโดยใช้สารสกัดกัญชาจะต้องไม่ใช่วิธีการรักษาขั้นแรก แต่จะต้องรักษาด้วยวิธีมาตรฐานต่างๆ แล้วไม่ได้ผล”อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว