ความรอบรู้ด้านสุขภาพในการใช้กัญชาทางการแพทย์ ของผู้ป่วยมะเร็งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย
การวิจัยเชิงวิเคราะห์แบบภาคตัดขวางครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรอบรู้ด้านสุขภาพและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรอบรู้ด้านสุขภาพในการใช้กัญชาทางการแพทย์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อาศัยในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1,193 คน โดยการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติ Multiple logistics regression ที่ระดับ 0.05 นำเสนอค่า Adjusted Odds Ratio พร้อมช่วงเชื่อมั่น 95% Confidence interval (CI) และ
p–value
ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 72.25 จบระดับประถมศึกษาร้อยละ 53.14 สถานภาพการสมรสคู่ ร้อยละ 74.27 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 49.04 ในภาพรวมความรอบรู้ด้านสุขภาพในการใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่ในระดับเพียงพอ ร้อยละ 53.48 สำหรับรายด้าน พบว่าด้านการเข้าถึงข้อมูล ด้านความเข้าใจ ด้านการวิเคราะห์ แปลความหมาย ประเมินข้อมูลสุขภาพ และด้านการตัดสินใจนำข้อมูลสุขภาพไปประยุกต์ใช้ อยู่ในระดับเพียงพอ ร้อยละ 45.85,
ร้อยละ 64.04, ร้อยละ 48.78 และร้อยละ 50.80 ตามลำดับ และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรอบรู้ด้านสุขภาพในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 ได้แก่ (1) เพศ (Adjusted OR=1.26, 95 % CI= 1.10 – 1.62; P-value =0.031) (2) รายได้เฉลี่ยต่อเดือน (Adjusted OR=2.10, 95 % CI = 1.60 – 2.69; P-value <0.001) (3) ทัศนคติต่อการใช้กัญชาทางการแพทย์ (Adjusted OR= 1.75, 95 % CI = 1.36 – 2.25; P-value <0.001) และ (4) การรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์จากสื่ออินเทอร์เน็ต (Adjusted OR=2.20, 95 % CI = 1.67 – 2.80; P-value <0.001) ดังนั้น ควรเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพในการใช้กัญชาทางการแพทย์ของผู้ป่วยมะเร็ง รวมทั้งทัศนคติและช่องทางการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์
cr. https://he02.tci-thaijo.org/index.php/journalkorat/article/view/253291