ปลดล็อกกัญชาในไทย อะไรทำได้-ไม่ได้บ้าง ?
หลังจากที่มี “ปลดล็อกกัญชา” เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ทำให้กัญชา และกัญชงในประเทศไทยถูกถอดออกจากยาเสพติดประเภทให้โทษ 5 ส่งผลให้มีการปลูก, บริโภค, รวมไปถึงจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์กันอย่างแพร่หลาย นอกเหนือไปจากเดิม ที่อนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น
จากการเปลี่ยนแปลงนี้ หลายคนอาจจะยังคงมีคำถามว่า การปลดล็อกกัญชาในไทยนั้น ปลดล็อกให้บุคคลทั่วไปมากน้อยแค่ไหน กัญชาสูบได้ไหม วันนี้ภูฟ้าเรสท์โฮม จะพาทุกท่านมาไขข้องสงสัยว่าอะไรทำได้ หรือไม่ได้บ้าง และข้อสังเกตที่ควรคำนึงของกัญชานั้นเป็นอย่างไร ผ่านบทความนี้
สรุปสถานการณ์กัญชาไทยก่อนปลดล็อก
ในอดีตกัญชาเป็นพืชที่ถูกนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยารักษาโรคหลายชนิด ซึ่งมีปรากฎให้เห็นอยู่ในตำราแพทย์แผนไทยโบราณสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก่อนจะถูกกำหนดให้การครอบครอง, ขาย, และใช้กัญชา (ทุกส่วนของต้นกัญชา เช่น ดอก, ผล, ยาง, ใบ) เป็นสิ่งผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติกัญชา พ.ศ. 2477
และถูกบัญญัติให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ในพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่ห้ามไม่ให้มีการเสพ, ครอบครอง, นำเข้า/ส่งออก, หรือนำไปใช้ทางการแพทย์ ทำในอดีตไทยสูญเสียโอกาสด้านการพัฒนายารักษาโรคจากกัญชา อย่างไรก็ตามมีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นประโยชน์ของกัญชาจำนวนมาก อีกทั้งยังให้ผลข้างเคียงน้อยเมื่อเทียบกับยาเสพติดประเภทอื่น หลายประเทศจึงมีการผ่อนคลายกฎหมายลงตามแนวโน้มสถานะทางกฎหมายของกัญชาโลกที่ถูกเปิดกว้างมากขึ้น
ในประเทศไทยเองก็ได้อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือใช้ในการศึกษาวิจัยได้ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 และมีประกาศให้ส่วนต่าง ๆ ของกัญชา (เช่น กิ่ง, ลำต้น, ราก, ส่วนที่มีสาร THC สารไม่เกิน 0.2%) ยกเว้นเมล็ดกัญชา และช่อดอก ไม่จัดเป็นยาเสพติด เมื่อปี พ.ศ. 2563 จนกระทั่งมีการปลดล็อกกัญชาในปัจจุบัน (2565) ที่ถือว่ากัญชา กัญชงไม่ใช่ยาเสพติด โดยมีสถานะเป็นพืชสมุนไพรควบคุม ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข มีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2565
รู้จักสารในกัญชา เหตุผลว่าทำไมถึง ‘เคย’ ถูกจัดเป็นยาเสพติด
ทั้งในกัญชา และกัญชงจะมีสารสกัดหลักในทางการแพทย์ 2 ชนิด ได้แก่ Tetrahydro Cannabinol หรือ THC และ Cannabidiol หรือ CBD ซึ่งเป็นสารในกลุ่ม Cannabinoids
THC จะมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ช่วยเรื่องการผ่อนคลาย และเพิ่มความอยากอาหาร ในขณะเดียวกัน หากได้รับ THC ในปริมาณมากก็มีผลข้างเคียงเชิงลบที่ตาม เช่น กระหายน้ำ, หัวใจเต้นเร็ว, ตอบสนองช้า, สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ, ประสาทหลอน, หูแว่ว, ทำให้เกิดอาการเมา อย่างที่พูดกันว่า“เมากัญชา” นั่นเอง โดยสาร THC นี้เป็นสารที่ทำให้เกิดอาการเสพติด ยิ่งเสพ ยิ่งต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมให้สารสกัดจากกัญชา และกัญชงที่ได้ ให้มีค่า THC ไม่เกิน 0.2%
อีกสารที่สำคัญ นั่นคือ CBD ช่วยเรื่องการผ่อนคลายเช่นกัน แต่ CBD จะไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ไม่ส่งผลให้เกิดอาการเมา ช่วยระงับอาการปวด อาการอักเสบ การชักเกร็ง ลดความกังวล รวมถึงเป็นยาแก้ของสาร THC อย่างการป้องกันการสูญเสียความทรงจำระยะสั้น และลดโอกาสเกิดโรคทางจิตจากการใช้ THC
สารสกัดในกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมาก แต่กัญชาก็เป็นสาเหตุการป่วยของผู้ป่วยยาเสพติดมากถึง 8.49% (สถาบันธัญลักษณ์, 2016) อีกทั้งยังมีหลายครั้งที่ผู้ป่วยเสพติดกัญชามีอาการคุ้มคลั่งและก่ออาชญกรรม การได้รับสารกัญชาในปริมาณที่เกินพอดีจึงเป็นดาบสองคมที่ให้โทษต่อร่างกาย และอาจให้โทษแก่ผู้อื่นด้วย นี่เป็นเหตุผลที่ในอดีตกัญชาถูกบดบังประโยชน์ทางการแพทย์ และถูกบัญญติให้เป็นยาเสพติด
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง:
–เจาะลึกกัญชาถูกกฎหมายและผลที่จะตามมา
–ประเภทและความร้ายแรงของสารเสพติดแต่ละประเภท
เกร็ดความรู้: กัญชา กัญชงต่างกันอย่างไร
แม้ทั้งสองจะเป็นพืชตระกูลเดียวกัน แต่หากสังเกตดี ๆ จะเห็นความแตกต่างทางกายภาพที่ชัดเจน โดยใบกัญชาจะเล็กกว่า ลักษณะแคบ ยาว เรียงตัวชิดกัน มี 5-7 แฉก ในขณะที่กัญชงจะใบใหญ่ สีอ่อนกว่า มี 7-11 แฉก ให้เส้นใยคุณภาพสูง ทำให้นิยมนำมาแปรรูปเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ข้อแตกต่างที่สำคัญคือ ปริมาณของ THC โดยกัญชาจะมีสาร THC มากกว่า 1% ส่วนกัญชงมีน้อยกว่า 1% สามารถนำไปสกัดเป็นยาใช้ทางการแพทย์เพื่อรักษากลุ่มโรคบ้างอาการ โดยสารนี้จะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ช่วยให้ผ่อนคลาย หลับสบาย ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน และช่วยให้อยากอาหารมากขึ้น
ปลดล็อกกัญชาแล้ว ใช้กัญชาทำอะไรได้บ้าง?
1. สูบกัญชาได้ไหม?
กัญชาสามารถสูบได้เพื่อผ่อนคลาย และส่งเสริมสุขภาพจิต แต่จำเป็นจะต้องสูบในที่มิดชิดไม่สูบในที่สาธารณะ หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้อื่น (หลายแหล่งจะใช้คำว่าสูบทางสันทนาการ) เนื่องจากกลิ่น และควันกัญชา กัญชง รวมถึงพืชอื่น ๆ ที่ถูกนำมาใช้สูบในลักษณะเดียวกัน อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่โดยรอบ เช่น กระตุ้นโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ เป็นต้น และในกรณีที่สูบกัญชามวนจะต้องมีตราสรรพสามิต ไม่อย่างนั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย
ในคำแนะนำการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ได้มีการแนะนำถึงวิธีสูบว่า ควรเลือกใช้วิธีที่ไม่ใช่การสูบกัญชาแบบเผาไหม้ เช่น การใช้เครื่องระเหยไอน้ำ เนื่องจากการสูบกัญชาแบบเผาไหม้เป็นประจำส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจได้ สำหรับในกรณีที่ผู้ป่วยยืนยันใช้กัญชาในรูปแบบสูบ ไม่ควรสูดโดยการอัดเข้าไปในปอด หรือสูดลึก ๆ แล้วกลั้นไว้ เพราะจะเป็นการเพิ่มอันตรายต่อปอดได้
นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตยังกล่าวถึงการสูบกัญชาโดยตรง ว่าในกัญชานั้นมี THC ประกอบถึง 12% และมี CBD ไม่ถึง 0.30% เท่านั้น การสูบโดยตรงเพื่อใช้ CBD รักษาโรคจะทำให้ได้รับแต่ THC มากเกินไปเสียเปล่า ๆ ควรสกัดออกมาเสียก่อนจะช่วยดึงประสิทธิภาพของ CBD ได้สูงสุด และลดปริมาณของ THC ลงด้วย
2. ปลูกกัญชาได้ไหม?
จากการปลดล็อกกัญชาออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 5 ทำให้ทุกบ้านสามารถปลูกกัญชาในครัวเรือนได้โดยใช้เพื่อทางการแพทย์ และการดูแลสุขภาพเท่านั้น และส่วนที่จะนำมาใช้ได้โดยไม่ผิดกฏหมาย คือสารสกัด CBD หรือ THC ที่ไม่เกิน 0.2%เท่านั้น
การปลูกในครัวเรือนจะไม่มีการจำกัดจำนวนต้น แต่ต้องจดแจ้งลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” โดยผู้ขอจดแจ้งจะต้องมีอายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไปซึ่งแอปพลิเคชันปลูกกัญเป็นแอปพลิเคชันของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
3. ปลูกกัญชาเชิงพาณิชย์ และขายต้นกัญชาทำได้หรือไม่?
การปลูกกัญชาเชิงพาณิชย์นั้นสามารถทำได้ แต่จำเป็นจะต้องขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น โดยมีเงื่อนไขสำคัญในการขออนุญาต ดังนี้
- 1. เกษตรกรจะต้องขออนุญาตปลูกกัญชาเชิงพาณิชย์แบบรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรเท่านั้น
- 2. ต้องมีผู้ซื้อที่สามารถนำกัญชานั้นไปแปรรูปได้ เช่น หน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ศึกษา วิจัย หรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์, หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด, สภากาชาดไทย
- 3. จัดเตรียมสถานที่เพาะปลูกให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ อย.
สำหรับการขายต้นกัญชานั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กรณีหลัก ๆ
กรณีแรกคือ การขายส่วนของพืช ซึ่งไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายยาเสพติด
กรณีที่สองคือ การขายเมล็ดพันธุ์, กิ่งพันธุ์, สารสกัด ยังคงต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ. พันธุ์พืช รวมไปถึงการขายสารสกัด THC ที่ไม่เกิน 0.2% แต่สำหรับสารสกัดที่ THC เกิน 0.2% ผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีใบอนุญาตเกี่ยวกับสารเสพติดให้โทษด้วย
4. วิธีใช้กัญชาให้ปลอดภัย
สำหรับการกัญชาใช้ทางการแพทย์ คือ การใช้สกัด CBD หรือ THC ที่ไม่เกิน 0.2% เพื่อใช้ในการรักษาโรคต่างซึ่งมีแนวทางการใช้ให้ปลอดภัยหลัก ๆ ดังนี้
- 1. แนะนำให้ใช้เป็นทางเลือกเมื่อใช้การรักษาตามแผนปัจจุบันไม่ได้ผล (หรือใช้ควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน)
- 2. ควรใช้ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ หากมียาโรคประจำตัวอยู่แล้ว จะต้องแจ้งกับแพทย์ก่อน
- 3. กัญชามีฤทธิ์ต่อพัฒนาการสมองของเด็กและวัยรุ่น ตามคำแนะนำ ผู้ใช้ควรมีอายุ 25 ปีขึ้นไป แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี
- 4. ไม่ควรใช้กัญชาในผู้ป่วยที่ครอบครัวมีประโยชน์โรคจิตเวช, คนติดยา, และหญิงมีครรภ์
- 5. งดขับขี่หรือทำงานกับเครื่องจักรโดยเด็ดขาด หลังจากใช้กัญชาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้ผ่านคำแนะนำการใช้สารสกัดกัญชาในทางการแพทย์ จากกรมการแพทย์
5. นำกัญชามาทำอาหารจำหน่ายให้ถูกกฎหมายอย่างไร?
หากต้องการนำกัญชามาประกอบอาหารแล้วจำหน่ายนั้นสามารถทำได้ แต่จะต้องมีการขออนุญาตก่อน อ้างอิงจากข้อมูลจากกองควบคุมวัตถุเสพติดกัญชา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุไว้ว่า ส่วนของกัญชา กัญชง และสารสกัด CBD ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารเพื่อผลิตจำหน่ายนั้นต้องเป็นเฉพาะส่วนของพืชที่กำหนดในประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ เมล็ดกัญชง, น้ำมันจากเมล็ดกัญชง, โปรตีนจากเมล็ดกัญชง, ส่วนเปลือก, ลำต้น, เส้นใย, กิ่ง, ก้าน, ราก, และใบ ซึ่งไม่มียอด หรือช่อดอกติดมาด้วย
ผู้ประกอบการสามารถขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหาร หรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหารเพื่อรับเลขสารบบอาหาร โดยต้องมีมาตรฐาน, เงื่อนไขชนิดอาหารและปริมาณของ CBD และ THC, และแสดงคำเตือนเป็นไปตามที่ประกาศกำหนด และมีการยื่นขอสถานที่ผลิตอาหารให้เรียบร้อย
สำหรับรายละเอียดการขออนุญาตสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
นอกเหนือจากการนำมาประกอบอาหารแล้ว การผลิตเป็นเครื่องสำอาง, ยาสมุนไพร, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารก็ต้องขออนุญาตก่อนเช่นกัน โดยเป็นไปตามกฑหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ส่วนผลิตภัณฑ์ในช่องปาก และจุดซ่อนเร้นยังไม่สามารถทำได้
ข้อเสียของกัญชา
การเสพกัญชาโดยการสูบ ฤทธิ์ของกัญชาจะแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้อย่างรวดเร็วภายใน 2-3 นาที และจะออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทได้สูงสุดถึง 1 ชั่วโมง หากมีการผสมในอาหารเพื่อรับประทานจะออกฤทธิ์ช้ากว่า และอยู่ในร่างกายได้นานกว่าตามลำดับ
ผลข้างเคียงระยะสั้นจากการใช้กัญชา
– รู้สึกเซื่องซึมลงช้า ๆ
– การรับรู้ผิดเพี้ยน ทั้งการมองเห็น การได้ยิน เวลา และการสัมผัส
– สูญเสียการทำงานร่วมกันของร่างกาย เช่น เดินเซ
– ตัดสินใจ คิด และแก้ปัญหาได้ช้า
– หัวใจเต้นเร็ว
– หวาดระแวง
ผลกระทบต่อระบบร่างกายจากการใช้กัญชา
– เห็นภาพหลอน
– ชัก กล้ามเนื้อเกร็งกระตุก
– คลื่นไส้ อาเจียน
– ความจำบกพร่อง
– เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวมากกว่าปกติ 4-5 เท่า
– ความหนาแน่นของกระดูกลดลง กระดูกหักง่าย เมื่อสูบจำนวนมาก
– เสี่ยงต่อการติดเชื้อในปอด เมื่อเสพผ่านการสูบ
– อาจเกิดอาการไอรุนแรง
จากผลข้างเคียงดังกล่าว จึงอยากขอเน้นย้ำเพื่อการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย
1. สาร THC ในกัญชาอาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการโรคจิตเภท โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น มีประวัติโรคจิตในครอบครัว เป็นต้น โดยส่งผลให้มีอาการขึ้น หรือ ทำให้มีอาการที่รุนแรงขึ้นได้
2. กัญชามีผลต่อการพัฒนาในด้านลบของสมองที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า เชาว์ปัญญาลดลง รวมไปถึงผลทางอารมณ์ และจิตใจ จึงต้องระวังอย่างยิ่งไม่ให้ใช้ในเด็ก และวัยรุ่น รวมไปถึงหญิงมีครรภ์
3. หากใช้กัญชาติดต่อกันเป็นเวลานาน สาร THC จะชะลอการทำงานของสมอง และทำให้สมองหยุดสร้างสารเคมีที่ทำให้รู้สึกดี ส่งผลให้รู้สึกหงุดหงิดได้ง่ายเวลาไม่ได้ใช้ มีอาการเสพติดกัญชา
ดังนั้น การใช้กัญชาจึงควรใช้ตามคำแนะนำแพทย์เพื่อประโยชน์ และความปลอดภัยสูงสุดของตัวผู้ใช้เอง
สรุป
ตามกฎหมายได้กำหนดให้ทุกส่วนของกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติด สามารถสูบ, ปลูก, จำหน่าย, ผลิต ได้ตามเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม การปลดล็อกไม่ได้หมายความว่า สามารถใช้ได้โดยเสรี 100% หากกัญชานั้นเข้าข่ายในเงื่อนไขใด ๆ ต่อไปนี้ จะถือว่าผิดกฎหมายทันที และมีโทษตาม พ.ร.บ. ยาเสพติด ประเภทที่ 5
1. สารสกัดนั้นมีค่า THC มากกว่า 0.2%
2. มีสารอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการยกเว้น ที่อยู่ภายใต้คำว่าสารสกัดกัญชาที่ถูกต้องตามกฑหมาย
3. นำเข้าจากต่างประเทศ
4. ไม่ถูกจดแจ้ง หรือขออนุญาต
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ไม่มีการรณรงค์ให้นำกัญชามาสูบเพื่อสันทนาการแต่อย่างใด และการสูบกัญชาในปริมาณมาก จะส่งผลเสียต่อร่างกายได้
Cr. https://www.phufaresthome.com/blog/Thailand-legalize-marijuana/